ROI ET TOWER

ประวัติความเป็นมา

หอโหวด ๑๐๑ เกิดจากแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ของนักพัฒนาท้องถิ่น ที่ชะตาชีวิตเหมือนฟ้ากำหนดให้ถูกออกแบบมา เพื่อให้พลาดโอกาสการเป็น ส.ส. สมัยที่ ๓ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เพื่อให้มาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ที่ชื่อบรรจง โฆษิตจิรนันท์ ซึ่งต้องการให้ร้อยเอ็ดเป็นเมืองน่าอยู่ โดยนำจุดเด่นของบึงพลาญชัย เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและขับเคลื่อน เพื่อสร้างการจดจำและเอกลักษณ์ของเมือง สู่การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนำโหวด เครื่องดนตรีประจำจังหวัด ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่คิดค้นและพัฒนาโดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธ์ุ ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๖๒ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน)มาสร้างเป็นหอสูงชมเมืองรูปทรงโหวด

จุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมโดยการสนับสนุนและผลักดันจาก นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล เมื่อย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด 1 ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้มีแนวคิดตรงกันกับนายกฯบรรจง โฆษิตจิรนันท์ ที่จะทำหอโหวดยักษ์ด้วยกัน ต่อมาจังหวัด ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด ตามโมเดลร้อยเอ็ด ๔.๑๐๑ ต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวมาตรวจเยี่ยมจังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ซึ่งในลำดับต่อมา คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งโครงการก่อสร้างหอโหวด ๑๐๑ เป็น ๑ โครงการที่บรรจุในโครงการสามเหลี่ยมการท่องเที่ยวสาเกตนคร ตามโมเดลร้อยเอ็ด ๔.๑๐๑

ณ เวลานั้น เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ยังไม่มีรายเอียดแบบแปลน ประมาณการค่าก่อสร้างหอโหวด ๑๐๑ เพื่อขอรับงบประมาณแต่อย่างใด มีเพียงแบบร่างที่ออกแบบโดยทีมงานสถาปนิกและวิศวกร กองช่าง แต่ด้วยความคุ้นเคยและความสัมพันธ์อันดี ระหว่างนายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดกับนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงขอให้นายกฯบรรจง โฆษิตจิรนันท์ และทีมงานกองช่าง เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เข้าพบโดยการประสานงานของโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด นายวิรัชต์ ทองรวย เพื่อขออนุเคราะห์ให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบ เขียนแบบรายละเอียดการก่อสร้างพร้อมประมาณการ ตามมาตรฐานอาคารสูง จนแบบเสร็จสมบูรณ์ เพื่อใช้ขอรับงบประมาณและได้ก่อสร้างดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

หลังจากมีความชัดเจนแล้วว่า หอโหวด ๑๐๑ จะก่อสร้างในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ดังนั้นนายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และนายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีฯ จึงได้นำเสนอแผนงานพัฒนาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ดต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์

ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ จำนวน ๓ โครงการและ ๑ ในนั้นคือโครงการก่อสร้างหอโหวด ๑๐๑ ซึ่งที่ประชุมรับทราบ ในแนวทางการพัฒนาดังกล่าว
ต่อมาเมื่อนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ นายกฯบรรจง โฆษิตจิรนันท์ ได้รายงานผลการดำเนินงานพัฒนาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ดให้รับทราบ จำนวน ๓ โครงการ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ๒ โครงการ คงเหลืออีกเพียง ๑ โครงการคือ โครงการก่อสร้างหอโหวด ๑๐๑ จึงได้นำเข้ารายงานความก้าวหน้าในที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน ซึ่งที่ประชุมฯได้รับทราบในแนวทางการพัฒนาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ที่ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ๒ โครงการและยังคงเหลืออีก ๑ โครงการคือการก่อสร้างหอโหวด ๑๐๑ พระองค์จึงตรัสถามว่า “หอโหวดร้อยเอ็ด จะแล้วเสร็จเมื่อไร” ผู้ว่าฯ สฤษดิ์ วิฑูรย์ จึงถวายรายงานว่า ยังไม่มีงบประมาณในการก่อสร้าง…. ซึ่งผลการประชุมคราวนี้ ทำให้หอโหวด ๑๐๑ ได้รับงบประมาณการก่อสร้างในเวลาต่อมา จากงบกลางรัฐบาลสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ได้นำเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อเสนอของบกลางจากรัฐบาลรวมทั้งได้รับความกรุณาอย่างยิ่งจากอดีตสมาชิกวุฒิสภา นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ผลักดัน เร่งรัด และติดตามงบประมาณ จากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จนได้รับอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง


ครั้นเมื่อ นายวันชัย คงเกษม ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ท่านได้ให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหา และอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างดี จนทำให้การก่อสร้างหอโหวด ๑๐๑ เป็นไปตามแผนงานและแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาหลัก และสัญญาเพิ่มเติมในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งฯ
หอโหวด ๑๐๑ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ แล้วเสร็จตามสัญญาหลักและสัญญาเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ส่วนการตกแต่งภายในเพิ่มเติมและการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ จะแล้วเสร็จค่อนข้างสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๓


หอโหวด ๑๐๑ ตั้งอยู่กลางเมืองในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด หน้าบึงพลาญชัย บนเนื้อที่รวม ๑๒๔ ไร่ มีความสูง ๑๐๑ เมตร เทียบเท่าอาคารสูง ๓๕ ชั้น มีลิฟต์โดยสาร ๒ ตัว และลิฟต์อัคคีภัย ๑ ตัว แบ่งพื้นที่ใช้สอย เป็น ๑๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ เป็นสำนักงานและห้องน้ำสาธารณะ/ ชั้นที่ ๒ เป็นโถงต้อนรับ บริการ จำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ และประวัติหอโหวด/ ชั้นที่ ๓ เป็นโถงจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและร้านกาแฟ/ ชั้นที่ ๔ เป็นร้านอาหารและ Co-working space/ ชั้นที่ ๒๘ เป็นพื้นที่ให้เช่าเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ/ ชั้นที่ ๒๙ เป็นจุดบริการตู้หยอดเหรียญ เครื่องดื่ม ไอศกรีม ห้องน้ำลอยฟ้าและจุดขึ้นลิฟต์โดยสารขาลง/ ชั้นที่ ๓๐ เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มลอยฟ้า/ ชั้นที่ ๓๑ เป็นจุดจอดลิฟต์โดยสารขาขึ้น จุดชมวิวภายใน ๓๖๐ องศา และกล้องส่องทางไกล/ ชั้นที่ ๓๒ เป็นชั้นชมวิวในอาคารและ งานระบบอาคาร/ ชั้นที่ ๓๓ เป็นชั้นแสดงพิพิธภัณฑ์เมือง/ ชั้นที่ ๓๔ เป็นชั้นที่ต่อเติมใหม่ตามสัญญาเพิ่มเติม เป็นจุดชมวิวนอกอาคาร Outdoor แบบ ๓๖๐ องศา โดยมี Highlight จุดชมวิวพื้นกระจกใส (Sky Walk) และ จุดโหนสลิงโรยตัว (Zipline) ในอนาคต/ และชั้นที่ ๓๕ เป็นชั้นสูงสุดที่ต่อเติมใหม่ตามสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็น ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

หอโหวด ๑๐๑ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างดังนี้
๑. งบ ๓๔๑,๘๐๐,๐๐๐.- บาท จากงบกลางรัฐบาลสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามสัญญาหลัก หอโหวด ๑๐๑ (ตามแบบกรมโยธาธิการฯ ซึ่งยังไม่มีชั้น ๓๔-๓๕ / เครื่องปรับอากาศ ชั้น ๓๒/ หลังคากันสาดชั้น ๓-๔/ ตกแต่งไม้ระแนงระเบียงบันไดทางเดินชั้น ๒)
๒. งบ ๙๙,๔๒๓,๕๐๐.- บาท จากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เพื่อต่อเติมประโยชน์ใช้สอยและปรับภูมิทัศน์ โดยรอบให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนี้
๒.๑ สัญญาเพิ่มเติม งานต่อเติม ตกแต่ง พื้น ผนัง หลังคา กันสาด ระเบียง ระบบไฟสปอร์ตไลท์ ติดเครื่องปรับอากาศ ชั้น ๓๒ ติดฟิล์มกรองแสงในอาคารทุกชั้น/ ต่อเติมประโยชน์ใช้สอย ชั้น ๓๔ และชั้น ๓๕/ ทำพื้นกระจก Sky Walk/ วางระบบโครงสร้างรองรับการโหนสลิงโรยตัว Zipline และอื่นๆเพิ่มเติม พร้อมติดตั้งลิฟต์ผู้สูงอายุและผู้พิการชั้น ๓๓-๓๕ งบ ๓๙,๘๐๐,๐๐๐.- บาท
๒.๒ งานปรับปรุงกระเบื้อง เคนไซ ทางเท้าโดยรอบและทางเข้า หอโหวด ๑๐๑ งบ ๘,๒๘๐,๐๐๐.- บาท
๒.๓ งานปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดสวน ระบบน้ำสปริงเกอร์ ระบบไฟสนาม รอบหอโหวด ๑๐๑ งบ ๒๑,๒๘๐,๐๐๐.- บาท
๒.๔ งานตกแต่งภายในหอโหวด ๑๐๑ ระบบแสง เสียง มัลติมีเดีย พื้น ผนัง เคาน์เตอร์ จุดบริการต่างๆ งบ ๒๔,๘๘๒,๐๐๐.- บาท
๒.๕ งานไฟฟ้าแสงสว่างและวางระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับไฟฟ้าและแสงสว่างรอบสวนฯและรอบหอโหวด ๑๐๑ งบ ๓,๗๐๐,๐๐๐.- บาท
๒.๖ งานปรับปรุง ซ่อมแซม หอนาฬิกาฯและภูมิทัศน์ พร้อมระบบเสียงดนตรีโหวด ๕๐๐,๐๐๐.- บาท
๒.๗ ค่าสำรวจ ออกแบบ เขียนแบบ รับรองแบบ ประมาณการ งานตกแต่งภายใน Interior/Corporate Design/ Graphic Design งบ ๕๐๐,๐๐๐.- บาท
๒.๘ ค่าสำรวจ ออกแบบ เขียนแบบ รับรองแบบ ประมาณการงานโหนสลิง Zipline งบ ๔๘๑,๕๐๐.- บาท
หอโหวด ๑๐๑ จะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะอีสานกลาง และอีสานใต้ ซึ่งมีกำหนดเปิดบริการหอโหวด ๑๐๑ ประมาณปลายเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ นี้
หอโหวด ๑๐๑ ถือเป็นผลงานที่ชาวร้อยเอ็ดภาคภูมิใจและเป็นผลงานเด่นสุด ในหลายผลงาน ของนายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการ การดูแลบำรุงรักษา ของคณะผู้บริหารเทศบาลฯปัจจุบัน และอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ทีมงานสถาปนิกและวิศวกร กรมโยธาธิการและผังเมือง
นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด
นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด
นายพัฒนพงศ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
นายนิติกร ทองกุล สถาปนิก และทีมงาน กองช่างเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
รวบรวม เรียบเรียงโดย
เรืองรัตน์ รัตนโภคาสถิต
๑๐+๑ ตุลาคม ๒๕๖๓


COPYRIGHT © 2020 roiettower. ALL RIGHTS RESERVED.